วันพฤหัสบดีที่ 15 กันยายน พ.ศ. 2554

ตัวละครเรื่องอิเหนา

ภาพที่ 2.2 อิเหนา
2.3.1 อิเหนา    อิเหนาหรือระเด่นมนตรี มีชื่อว่า “ หยังหยังหนึ่งหรัดอินดราอุดากันสาหรีปาติอิเหนาเองหยังตาหลาเมาะตาริยะกัดดังสุรศรี ดาหยังอริราชไพรี เองกะนะกะหรีกุเรปัน ” เป็นโอรสของท้าวกุเรปันและประไหมสุหรีนิหลาอระดา อิเหนาเป็นชายรูปงาม มีเสน่ห์มีนิสัยเจ้าชู้ มีความเชี่ยวชาญในการใช้กริชและกระบี่เป็นอาวุธ อิเหนามีมเหสี ๑๐ องค์ ได้แก่
-            จินตะหราวาตี  เป็น  ประไหมสุหรีฝ่ายขวา       - บุษบาหนึ่งหรัด  เป็น ประไหมสุหรีฝ่ายซ้าย
-            บุษบาวิลิศ  เป็น  มะโตฝ่ายขวา                          -  บุษบากันจะหนา  เป็น  มะโตฝ่ายซ้าย
-            ระหนาระกะติกา  เป็น  ลิกูฝ่ายขวา                    -  อรสา  เป็น  ลิกูฝ่ายขวา
-            สะการะวาตี  เป็น  มะเดหวี่ฝ่ายขวา                   -  มาหยารัศมี  เป็น  มะเดหวี่ฝ่ายซ้าย
-            สุหรันกันจะสาหรี่  เป็น  เหมาหลาหงีฝ่ายขวา   -  หงยาหยา  เป็น  เหมาหลาหงีฝ่ายซ้าย
               รอบคอบ  มองการณ์ไกล  ตอนที่สังคามาระตารบกับวิหยาสะกำ  อิเหนาได้เตือน สังคามาระตาว่าไม่ชำนาญกระบี่  อย่าลงจากหลังม้า  เพราะเพลงทวนนั้นชำนาญอยู่แล้วจะเอาชนะได้ง่ายกว่า
                      “ เมื่อนั้น                                   ระเด่นมนตรีใจหาญ
         จึงตอบอนุชาชัยชาญ                              เจ้าจะต้านต่อฤทธิ์ก็ตามใจ
         แต่อย่าลงจากพาชี                                  เพลงกระบี่ยังหาชำนาญไม่
         เพลงทวนสันทัดจัดเจนใจ                      เห็นจะมีชัยแก่ไพรี ”
               มีอารมณ์ละเอียดอ่อน  เมื่อจากสามนางมาเห็นสิ่งใดก็คิดถึงนางทั้งสาม  คำประพันธ์ความตอนนี้มีความไพเราะมาก
                     “ ว่าพลางทางชมคณานก           โผนผกจับไม้อึงมี่
         เบญจวรรณจับวัลย์ชาลี                          เหมือนวันพี่ไกลสามสุดามา
         นางนวลจับนางนวลนอน                      เหมือนพี่แนบนวลสมรจินตะหรา
         จากพรากจับจากจำนรรจา                      เหมือนจากนางสการะวาตี ”
ภาพที่ 2.3 นางบุษบาหนึ่งหรัด   
               2.3.2  นางบุษบาหนึ่งหรัด   เป็นธิดาของท้าวดาหาและประไหมสุหรีดาหราวาตี แห่งกรุงดาหา ท้าวกุเรปันก็ขอตุนาหงันให้กับอิเหนา
      
         บุษบาเป็นหญิงที่งามล้ำเลิศกว่านางใดในแผ่นดินชวากิริยามารยาทเรียบร้อย คารมคมคาย เฉลียวฉลาดทันคนใจกว้างและมีเหตุผล จึงผูกใจให้อิเหนารักใคร่ใหลหลงนางยิ่งกว่าหญิงอื่นนอกจากนั้นบุษบายังเป็นลูกที่ดีอยู่ในโอวาทของพระบิดา พระมารดา ยอมแต่งงานกับระตูจรกา แม้ว่าจะไม่พอใจในความขี้ริ้วขี้เหร่ของระตูจรกาก็ตาม
       
        นางถูกเทวดาบรรพบุรุษ ของวงค์อสัญแดหวาคือ องค์ปะตาระกาหลาบันดาลให้ลมพายุหอบไป ทำให้นางต้องพลัดพรากจากอิเหนา และพระบิดาพระมารดาเป็นเวลาหลายปี กว่าจะได้พบอิเหนาและวิวาห์กัน โดยนางได้ตำแหน่งเป็นประไหมสุหรีฝ่ายซ้าย
ภาพที่ 2.4 จินตะหราวาตี  
2.3.3 จินตะหราวาตี  เป็นธิดาของระตูหมันหยากับประไหมสุหรีชื่อสุหรีจินดาส่าหรี แห่งเมืองหมันหยา รูปโฉมงดงาม มีนิสัยเจ้าอารมณ์ เอาแต่ใจตัวเองแสนงอน ช่างพูดประชดประชัน บางครั้งก็ก้าวร้าวหยาบคาย จนแม้แต่อิเหนาเองยังนึกรำคาญใจ ทั้งๆที่ได้พบนางครั้งแรกก็หลงรัก จนไม่ยอมกลับกรุงกุเรปันและปฏิเสธการแต่งงานกับบุษบาอย่างสิ้นเชิง ครั้งอิเหนาได้รับคำสั่งจากท้าวกุเรปันให้ไปช่วยทำศึกที่เมืองดาหา ทำให้นางไม่ได้พบอิเหนาอีกเลย จวบจนเวลาผ่านไปนานหลายปี ท้าวกุเรปันจะจัดพิธีแต่งงานให้อิเหนา จึงทรงมีสาส์นมาถึงระตูมันหยาให้พาจินตะหราไปเขาพิธีด้วยในตำแหน่ง ประไหมสุหรีฝ่ายขวา
2.3.4 ท้าวกุเรปัน  เป็นกษัตริย์ครองกรุงกุเรปัน มีมเหสี ๕ องค์ ตามประเพณี มีประไหมสุหรีชื่อนิหลาอระตา    ท้าวกุเรปัน มีโอรสองค์แรกกับลิกูชื่อ กะหรัดตะปาตี และมีโอรสธิดากับประไหมสุหรีคือ อิเหนาและวิยะดา  ท้าวกุเรปันมีพี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกันอีก ๓ องค์ ซึ่งเป็นกษัตริย์ของเมืองต่างๆ  คือ ท้าวดาหา  ท้าวกาหลัง  และท้าวสิงหัดส่าหรี ท้าวกุเรปัน ทรงหยิ่งทะนงในศักดิ์ศรีของวงอสัญแดหวา จึงไม่พอใจมาก ที่อิเหนาไปมีความสัมพันธ์กับจินตะหรา
               ถือยศศักดิ์ไม่ไว้หน้าใคร  ไม่เกรงใจใคร  เช่น  ในราชสาส์นถึงระตูหมันหยา  กล่าวตำหนิระตูหมันหยาอย่างไม่ไว้หน้าว่า  เป็นใจให้จินตะหราแย่งคู่หมั้นบุษบา  สอนลูกให้ยั่วยวนอิเหนา  เป็นต้นเหตุให้บุษบาร้างคู่ตุนาหงัน
                  “ ในลักษณ์อักษรสารา               ว่าระตูหมันหยาเป็นผู้ใหญ่
       มีราชธิดายาใจ                                        แกล้งให้แต่งตัวไว้ยั่วชาย
      จนลูกเราร้างคู่ตุนาหงัน                           ไปหลงรักผูกพันมั่นหมาย
      จะให้ชิงผัวเขาเอาเด็ดดาย                         ช่างไม่อายไพร่ฟ้าประชาชน
      บัดนี้ศึกประชิดติดดาหา                            กิจจาลือแจ้งทุกแห่งหน
      เสียงงานการวิวาห์จราจล                          ต่างคนต่างข้องหมองใจ
      การสงครามครั้งนี้มีไปช่วย                       ยังเห็นชอบด้วยหรือไฉน
      จะตัดวงศ์ตัดญาติให้ขาดไป                       ก็ตามแต่น้ำใจจะเห็นดี ”
               ในพระราชสาส์นของท้าวกุเรปันถึงอิเหนาได้ยกความผิดให้จินตะหรา  จึงมีลักษณะเป็นผู้ใหญ่ที่มีอำนาจ  แต่ไม่มีเมตตา  ถือยศศักดิ์  และที่ต้องช่วยดาหานั้น  เพราะถ้าดาหาแพ้หมายถึงกษัตริย์วงศ์เทวาพ่ายแพ้ด้วย  ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าอายอย่างยิ่ง
                  “ ถึงไม่เลี้ยงบุษบาเห็นว่าชั่ว      แต่เขาก็รู้อยู่ว่าตัวนั้นเป็นพี่
       อันองค์ท้าวดาหาธิบดี                          นั้นมิใช่อาหรือว่าไร
       มาตรแม้นเสียเมืองดาหา                      จะพลอยอายขายหน้าหรือหาไม่”
2.3.5 ท้าวดาหา   กษัตริย์ครองกรุงดาหา มีมเหสี ๕ องค์  ประไหมสุหรีชื่อ ดาหราวาตี ท้าวดาหามีโอรสธิดากับประไหมสุหรีคือบุษบาและสียะตรา ท้าวดาหาเป็นผู้มีใจยุติธรรม เพราะทรงยินยอมให้จินตะหราเป็นประไหมสุหรีฝ่ายขวา ซึ่งใหญ่กว่าบุษบาที่เป็นประไหมสุหรีฝ่ายขวา
               หยิ่งในศักดิ์สรี  ใจร้อน  เช่น  ตัดสินใจรับศึกกะหมังกุหนิงโดยไม่สนใจว่าจะมีใครมาช่วยหรือไม่  ดังคำประพันธ์
                   “ คิดพลางทางสั่งเสนาใน          เร่งให้เกณฑ์คนขึ้นหน้าที่
       รักษามั่นไว้ในบุรี                                  จะดูทีข้าศึกซึ่งยกมา
       อนึ่งจะคอยท่าม้าใช้                               ที่ให้ไปแจ้งเหตุพระเชษฐา
       กับสองศรีราชอนุชา                               ยังจะมาช่วยหรือประการใด
       แม้จะเคืองขัดตัดรอน                             ทั้งสามพระนครหาช่วยไม่
       แต่ผู้เดียวจะเคี่ยวสงครามไป                  จะยากเย็นเป็นกระไรก็ตามที ”
               เป็นคนรักษาสัจจะ  รักษาเกียรติยศชื่อเสียงเป็นอย่างยิ่ง  เมื่อได้ยกนางบุษบาให้จรกาไปแล้ว  เมื่อกะหมังกุหนิงมาสู่ขออีกจึงปฏิเสธ  ดังที่ว่า
                     “ อันอะหนะบุษบาบังอร           ครั้งก่อนจรกาตุนาหงัน
      ได้ปลดปลงลงใจให้มั่น                           นัดกันจะแต่งการวิวาห์
       ซึ่งจะรับของสู่ระตูนี้                               เห็นผิดประเพณีหนักหนา
        ฝูงคนทั้งแผ่นดินจะนินทา                     สิ่งของที่เอามาจงคืนไป ”
2.3.6 ท้าวกะหมังกุหนิง    ผู้ครองเมืองกะหมังกุหนิง  มีน้อง ๒ คน  คือ ระตูปาหยัง และระตูประหมัน และมีโอรสชื่อ วิหยาสะกำซึ่งเป็นโอรสที่พระองค์ และมเหสีรักดังแก้วตาดวงใจ เมื่อท้าวกะหมังกุหนิงทราบว่าวิหยาสะกำคลั่งไคล้นางบุษบาธิดาของท้าวดาหา ซึ่งสิ่งที่เห็นเป็นเพียงรูปวาดเทานั้น พระองค์ก็แต่งทูตไปขอนางทันที ครั้นถูกปฏิเสธ ท้าวกะหมังกุหนิงจึงโกรธมาก และยกทัพไปตีกรุงดาหาเพื่อแย่งนางบุษบามาให้วิหยาสะกำ แม้น้องทั้งสองจะทัดทาน แต่ท้าวกะหมังกุหนิงก็ไม่ยอมเปลี่ยนความคิดโดยประกาศว่าจะยอมตายเพื่อลูก
2.3.7  วิหยาสะกำ   โอรสของท้างกะหมังกุหนิง ซึ่งเกิดจากประไหมสุหรี วิหยาสะกำมีฝีมือในการใช้ทวนเป็นอาวุธ และเป็นคนที่มีจิตใจอ่อนไหวมาก
ภาพที่ 2.5 สังคามาระตา  
2.3.8 สังคามาระตา  โอรสของระตูปรักมาหงัน  และเป็นน้องของมาหยารัศมี สังคามาระตาเป็นหนุ่มรูปงาม มีความเฉลียวฉลาด รอบคอบ แก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าได้ เก่ง และกล้าหาญ ทั้งยังมีความซื่อสัตย์ และชำนาญในการใช้ทวนเป็นอาวุธ เป็นคู่คิดคู่ปรึกษาและช่วยเตือนสติอิเหนาได้หลายครั้ง

2.3.9 สุหรานากง    โอรสของท้าวสิงหัดส่าหรีที่เกิดจากประไหมสุหรี พระบิดาได้สู่ขอสะการะหนึ่งหรัด ธิดาท้าวกาหลังให้เป็นคู่ตุหนาหงันตั้งแต่เด็ก สุหรานากงปฏิบัติตนเป็นลูกที่ดีอยู่ในโอวาทของพระบิดาและพระมารดาอยู่เสมอ มีความกล้าหาญ และวางตนได้ย่างเหมาะสม
2.3.10 ระตูหมันหยา โอรสของท้าวมังกัน พระบิดาได้ขอตุหนาหงัน ระเด่นจินดาส่าหรี ธิดาองค์สุดท้ายของระตูหมันหยาซึ่งสิ้นพระชนม์ไปแล้ว  เมื่อแต่งงานกัน พระมารดาของระเด่นจินดาส่าหรีได้อภิเษกให้ครองเมืองหมันหยา โดยให้ระเด่นจินดาส่าหรีเป็นประไหมสุหรี ระตูหมัยหยาและประไหมสุหรีจินดา มีธิดาเพียงองค์เดียว คือจินตะหราวาตี ระตูหมันหยามีจิตใจอ่อนแอ ไม่มีความเป็นนักสู้
2.3.11 ประสันตา   เป็นพี่เลี้ยงหนึ่งในสี่ของอิเหนา ซึ่งท้าวกุเรปันเลือกแต่ครั้งอิเหนาประสูติใหม่ๆ บิดาของประสันตาเป็นเสนาบดีตำแหน่งยาสา(ฝ่ายตุลาการ)  ของกุเรปัน ประสันตามีนิสัยตลก คะนอง  ปากกล้า  เจ้าอารมณ์ ชอบพูดเย้าแย่เสียดสีผู้อื่นอยู่เสมอ และยังเจ้าเล่ห์อีกด้วย
2.3.12 ท้าวกาหลัง  เป็นกษัตริย์ผู้ครองกรุงกาหลัง เป็นน้องของท้าวกุเรปันและท้าวดาหามีมเหสี ๕ องค์ ครบตำแหน่งตามประเพณีประเพณีของวงศ์อสัญแดหวา พระองค์มีธิดาที่เกิดจากประไหมสุหรี หนึ่งองค์ คือ ระเด่นสะการะหนึ่งหรัด และมีธิดากับลิกูอีกหนึ่งองค์ คือ บุษบารากา ท้าวกาหลังทรงมีจิตใจเมตตากรุณากับทุกคน เช่น ทรงยอมรับคนแปลกหน้าที่เพิ่งจะพบกันครั้งแรก คือ ปันหยี,อุณากรรณ และย่าหรัน ไว้เป็นโอรสบุญธรรมให้การเลี้ยงดูอย่างดี ทั้งที่ไม่ทรงทราบว่าเป็นหลานแท้ๆ ของพระองค์เอง
               2.3.13 ท้าวสิงหัดส่าหรี เป็นกษัตริย์ผู้ครองกรุงสิงหัดส่าหรี เป็นน้ององค์สุดท้องของท้าวกุเรปัน ท้าวดาหา และท้าวกาหลัง ท้าวสิงหัดส่าหรีมีโอรสและธิดากับประไหมสุหรี รวมสองพระองค์คือ สุหรานากง กับ จินดาส่าหรี สำหรับสุหรานากงนั้น พระองค์ได้ขอสะการะหนึ่งรัด ธิดาของท้าวกาหลังให้เป็นคู่ตุนาหงัน ส่วนจินดาส่าหรี เมื่อเติบโตเป็นสาว ท้าวกุเรปันได้สู่ขอให้แต่งงานกับระตูจรกา แทนบุษบาที่ถูกอิเหนาลักพาตัวไป ท้าวสิงหัดส่าหรี ทรงปกครองบ้านเมืองด้วยทศพิธราชธรรม ราษฎรอยู่เย็นเป็นสุขตลอดมา ตราบจนเข้าสู่วัยชรา จึงให้สุหรานากง เป็นกษัตริย์ ครองกรุงสิงหัดส่าหรีแทน

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น